Friday, 26 April 2024

แม่พลอย สี่แผ่นดิน

ปก แม่พลอย สี่แผ่นดิน

treemusketeers จะมาพูดถึงประวัติความเป็นมาของแม่พลอย ในบรรดานวนิยายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ สี่แผ่นดิน เริ่มต้นจากเรื่องที่เขียนลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ รายวัน ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๕ นวนิยายเรื่องนี้พรรณนาชีวิตของแม่พลอย สาวชาววังตระกูลผู้ดีเก่า เธอเกิดในปี พ.ศ.๒๔๒๕ และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๘๙ หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๘ “สี่แผ่นดิน” ที่ว่านี้จึงหมายความถึงชีวิตของเธอ ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของชีวิตครอบครัว ตลอดจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระหว่างช่วงสี่รัชกาลนั้น

ประสบการณ์ดังว่าของนางเอก สี่แผ่นดิน มีส่วนมาจากชีวิตจริงของเขา ที่วัยเด็กเคยติดตามหม่อมมารดาเข้าวัง ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับราชสำนักฝ่ายใน ผสมผเสกับเรื่องที่ได้เคยทูลถามจากเจ้านายฝ่ายในที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ตลอดจนพระอนุวงศ์บางพระองค์ เช่นหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล เขาเล่าว่า สี่แผ่นดิน นั้น เขียนแบบวันต่อวัน คือไม่มีการร่าง คำนำของผู้เขียนถึงกับบอกว่าเมื่อสร้างฉากหลังของเรื่อง และวางบุคลิกลักษณะของตัวละครไว้คร่าวๆ ในใจแล้ว บรรดาผู้คนในเรื่องกลับมีชีวิตจิตใจของตัวเองขึ้นมาจริงๆ “จนบางเวลาขณะที่เขียนอยู่นั้น เผลอไป เหมือนกับมีใครมากระซิบบอกให้เขียนอยู่ใกล้ๆ”

หนังสือสี่แผ่นดิน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างตัวละครเอกอย่าง “แม่พลอย” ให้มีชีวิตชีวา จนหลายคนสงสัยว่าอาจเป็นเรื่องจริง แม่พลอยกลายเป็นคนคุ้นเคยของผู้อ่านถึงขนาดลือกันว่า เมื่อเรื่องดำเนินไปจนถึงแม่พลอยได้แต่งงานกับคุณเปรม มหาดเล็กหนุ่ม แล้วตั้งครรภ์และเริ่มแพ้ท้อง พลันที่แม่พลอยออกปากบอกสามีผ่านหน้ากระดาษของ สยามรัฐ รายวันไปว่า “ถ้าจะให้ดี วานใครออกหามะม่วงดิบๆ ให้ฉันสักสองสามลูก ฉันอยากกินอะไรเปรี้ยวๆ เหลือเกิน…” วันรุ่งขึ้น แม้มิใช่ฤดู ก็มีผู้อ่านที่รู้สึกเป็นจริงเป็นจัง “เข้ามารับนับเป็นญาติโยมของแม่พลอย” เสียจนส่งมะม่วงขบเผาะ (บางเสียงเล่าว่าเป็นมะขามเปียก) มากำนัลเธอถึงที่โรงพิมพ์สยามรัฐ ถนนราชดำเนิน สี่แผ่นดิน กลายเป็นนิยายที่คนอ่านติดกันงอมแงม และพลอยกลายเป็นตัวประกันไปด้วย

ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ หลังความพยายามก่อรัฐประหารของกลุ่มทหารเรือ ที่ต่อมาเรียกกันว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ล้มเหลว ทางรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก พร้อมกับมีนโยบายให้ตรวจข่าว (เซ็นเซอร์-censor) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก่อนจะส่งโรงพิมพ์อย่างเข้มงวด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่พอใจอย่างยิ่ง เขาประกาศหยุดคอลัมน์ประจำที่เคยเขียนทั้งหมด รวมทั้ง สี่แผ่นดิน พร้อมกันนั้น สยามรัฐ ประท้วงและประจานการตรวจข่าว ด้วยการหันไปลงข่าวที่ “ปราศจาก” การเมือง ผู้ที่เสียเงิน ๕๐ สตางค์ ซื้อ สยามรัฐ รายวัน จะได้อ่านข่าวที่หาไม่ได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นใด เช่นว่าต้นหมากที่หลังโรงพิมพ์มีกี่ต้น หน้าต่างตึกกระทรวงกลาโหมมีกี่บาน ทราบจำนวนเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ลอยผ่านพระนครไปเมื่อวานนี้ หรือรู้กระทั่งว่าตุ๊กแกของไทย ร้องไม่เหมือนกับตุ๊กแกฝรั่งและตุ๊กแกไหหลำอย่างไรบ้าง

สี่แผ่นดิน

ข่าวพาดหัวหน้า ๑ ที่เป็นที่จดจำกันมากที่สุดของ สยามรัฐ ยุคนี้คือฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔รายงานข่าวด่วนจากคึกฤทธิ์ พระอาทิตย์ที่หัวหินขึ้นผิดทางกับศรีราชาสงสัยพระอาทิตย์มี ๒ ดวง เนื้อข่าวกล่าวว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปสังเกตการณ์ทางธรรมชาติวิทยาที่หัวหิน ค้นพบว่าอาจมีพระอาทิตย์มากกว่า ๑ ดวง เพราะที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี พระอาทิตย์ขึ้นจากภูเขา และตกในทะเล ต่างจากที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่พระอาทิตย์กลับขึ้นจากทะเล แล้วตกไปทางภูเขาแทน แต่ยืนยันว่า ทั้งสองดวงนี้ เป็นดวงโต-กลม-ร้อน เหมือนกัน ที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ จะกลับคืนสู่ภาวะปรกติ ก็คือจนเมื่อรัฐบาลยุติการตรวจข่าวในเดือนถัดมา และยกเลิกกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน รวมเวลาที่ “หลุดโลก” ไปร่วมสองเดือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์รีบบรรณาการผู้อ่านด้วยคอลัมน์ประจำทั้งหมดดังเดิม รวมถึงตอนต่อของ สี่แผ่นดิน ที่แฟนๆ เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อ

สี่แผ่นดิน รวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้มาเป็นหนังสือสองเล่มใหญ่ หนารวมกันถึง ๒,๒๒๔ หน้า นับแต่นั้นมาก็มีการพิมพ์ซ้ำอีกนับสิบครั้ง จนเมื่อเริ่มมีกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย สี่แผ่นดิน ยังถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์เรื่องยาวอีกหลายรอบ เรียกได้ว่าทุก ๑๐ ปี ต้องมีการสร้างสรรค์ฉบับประจำทศวรรษกันทีหนึ่ง

สนับสนุนโดย  ufa045.vip