Thursday, 25 April 2024

จุดเริ่มต้นของการคิดค้นนวัตกรรม

ปก จุดเริ่มต้นของการคิดค้นนวัตกรรม

นวัตกรรม (Innovation) เป็นคำศัพท์ที่ได้ยินกันเป็นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาและใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการใช้คำว่า นวัตกรรม ในคำโฆษณาสินค้าเกือบทุกประเภท งานเกือบทุกงาน เรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็เจอแต่คำว่า “นวัตกรรม” “นวัตกรรม” “นวัตกรรม” เป็น Buzz Word

จากความสงสัยใคร่รู้ว่าจริงๆ แล้ว “นวัตกรรม” มีความหมายว่าอย่างไร แล้วแต่ละวงการ มีความเข้าใจคำว่า นวัตกรรมเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร? treemusketeers จึงได้ลองไปศึกษาจากหลากหลายแหล่งแล้วลองนำความหมายมา สร้างกลุ่มคำร่วมที่เข้าใจง่ายออกมาเป็น “EasyInnovation Model” นิยามนวัตกรรมแบบที่เข้าใจได้ง่ายและสามารถหยิบไปใช้งานได้จริง สิบปากว่าไม่เท่าเห็นของจริงลองข้ามขีดความท้าทายของความสับสนมาลองอ่านสักเล็กน้อย แล้วคุณจะรู้ว่า “นวัตกรรม : Innovation” เป็นเรื่องง่ายและ ใกล้ตัวมากกว่าที่คิดยิ่งนัก

3 วงหลักประกอบร่างกลายเป็นนวัตกรรม

นวัตกรรม ตามแนวทางของ #EasyInnovation เกิดจากการรวมตัวของ 3 กลุ่มคำที่สำคัญ คือ Thing + New + Value ซึ่งผู้อ่านต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “นวัตกรรม” นั้นจะไม่เหมือนคำว่า โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า ซึ่งเมื่อเราเห็นของสิ่งนั้นเราสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไร หรือเป็นสิ่งใด แต่การที่จะเรียกของสิ่งใดว่าเป็นนวัตกรรมเราต้องทำการพิจารณาของสิ่งนั้นเทียบกับบริบทและสภาพแวดล้อม (Context & Content) เสียก่อน โดยการเทียบเคียงกับ 3 กลุ่มคำ คือ Thing + New + Value

นวัตกรรม

THING ถ้าเราแปลความหมายตามพจนานุกรมเราจะได้ความหมายว่า สิ่งของ สิ่งที่เกิดขึ้น รายละเอียด จุดประสงค์ งานที่ต้องทำ สำหรับครั้งนี้เราใช้ “THING” แทนความหมายของสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการทำออกมาแล้ว โดยแบ่งออกเป็นประเภทย่อยที่สุดได้ 4 ประเภท คือ 

– ผลิตภัณฑ์ (Product)

– กระบวนการ (Process) 

– การบริการ (Service) 

– รูปแบบธุรกิจ (Business Model)

นั่นแปลว่า…ขอบข่ายของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “THING”  สามารถเป็นได้ทั้งสินค้า บริการ กระบวนการ หรือโมเดลต่าง   ๆ   ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้

NEW หมายถึง ความใหม่ แต่ถ้าพูดคำว่าใหม่ลอย   ๆ   อาจจะเกิดอาการถกเถียงกันว่าใหม่ของฉันแต่อาจจะไม่ใหม่ของเธอ ใหม่ของประเทศแต่อาจจะไม่ใหม่สำหรับโลกใบนี้ จึงเป็นข้อถกเถียงกันเสมอว่า นวัตกรรมต้องใหม่แค่ไหน จึงจะเรียกว่านวัตกรรม สำหรับความใหม่นั้น ผู้เขียนขอหยิบมาตรฐานที่สามารถอ้างอิงให้เราสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น คือ BS-7000 : 2008 หรือเรียกชื่อเต็มว่า British Standard 7000 – 2008 : Managing Innovation ซึ่งได้อธิบายนิยามของคำว่า”ใหม่” ไว้ว่ามี  9 ระดับด้วยกัน ซึ่งความใหม่ที่แตกต่างกันนั้นแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการพัฒนา นำเสนอ หรือการได้มาซึ่งรางวัล หรือสิ่งตอบแทนที่แตกต่างกัน และเป็นระดับของนวัตกรรมที่แตกต่างกันอีกด้วย 

ดังนั้นระดับความใหม่ของนวัตกรรม มีได้หลายระดับ ผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับอุตสาหกรรมแต่ไม่ใหม่ในประเทศ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรมนั่นเอง หรือบางครั้งเราสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาของตัวเองในแบบที่ตัวเรายังไม่เคยทำมาก่อน ก็เรียกว่าได้ว่า เป็นนวัตกรรมระดับบุคคล (ใหม่สำหรับตัวเอง) ได้เช่นกัน

Innovation-Thailand

VALUE “คุณค่า” คือ กลุ่มคำสำคัญที่ขาดไม่ได้ สำหรับนิยามของนวัตกรรม นั่นคือ สิ่งใหม่นั้นจะเกิดคุณค่าได้จริงก็ต่อเมื่อมีผู้นำไปใช้งาน (User) แล้วเท่านั้น หรือพูดอีกแง่คือ มีผู้ใช้งานหรือผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น (THING) นั่นเอง  โดยเราสามารถพิจารณาคุณค่าเบื้องต้นจากสามเหลี่ยม “Value to Customer” ว่ามีคุณค่าอยู่ 3 ประเภทที่ลูกค้าต้องการ ได้แก่

  1. Gain Creator การได้รับผลตอบแทน / ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น มากขึ้น
  2. Reduce Pain Point การลดความเจ็บปวด หรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสามารถมองให้ละเอียดขึ้นเป็น 4 มิติของปัญหา ได้แก่

– Man = คน

– Machine = เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์

– Material = วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

– Method = กระบวนการ วิธีการ 

  1. Emotional Contribution การสร้างอารมณ์ร่วม หรือคุณค่าบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ในใจของลูกค้า หรือผู้ใช้งาน

โดยสรุป คือ นวัตกรรม =  THING + NEW + VALUE  ซึ่งในนิยามตามแนวทางของ #EasyInnovation คือ สิ่งที่สร้างสรรค์ พัฒนา ปรับปรุงขึ้นมาใหม่และ เกิดคุณค่า/ประโยชน์ โดยจะเป็นนวัตกรรมในระดับไหนนั้นก็จะขึ้นอยู่กับระดับของความใหม่ และเป็นนวัตกรรมประเภทไหนนั้นก็กลับมาดูที่ “THING” นั่นเอง

สนับสนุนโดย ivip9.win