Sunday, 14 April 2024

คลั่ง “ดอกทิวลิป” จนทำให้เกิดวิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก

วิกฤตดอกทิวลิป

ความคลั่ง “ดอกทิวลิป” จนทำให้เกิดวิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก treemusketeers จะพามาดูว่าคลั่งดอกทิวลิปคืออะไร ?

1.วิกฤตดอกทิวลิป

เป็นการย้อนไปในอดีตเลยก็ว่าได้ และเป็นวิกฤตการเงินครั้งแรกที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์นั่นก็คือ “วิกฤตดอกทิวลิป” (Tulip Mania) เกิดขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1637 เป็นช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ที่เป็นยุครุ่งเรืองทางการค้าของเนเธอร์แลนด์

โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East India Company หรือ VOC) ขยายอิทธิพลทางการค้าไปหลายทวีป ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของโลกในเวลานั้น

2.แล้วสินค้าอะไรที่มีอิทธิพล

หนึ่งในสินค้าที่มีผู้นำมาเผยแพร่ในเนเธอร์แลนด์ก็คือ “ดอกทิวลิป” (Tulip Flower) โดยมีต้นกำเนิดจากเปอร์เซียและออตโตมัน (อิหร่านและตุรกีในปัจจุบัน) โดยได้นำดอกทิวลิปมาปลูกเมื่อราวๆ ค.ศ. 1593 เพราะดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีในยุโรปมาก่อน อีกทั้งยังมีสีสันสวยงามหลายหลากสี ไม่ว่าจะสีแดง,เหลือง,ม่วง,ขาว มันจึงกลายเป็นสินค้าหายากจนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนมีไม่พอกับความต้องการของตลาด

Tulip

3.การทำสัญญาซื้อขาย

ในเมื่อเป็นเช่นนี้พ่อค้าดัตช์จำนวนมาก ก็หวังที่จะกอบโกยกำไรจึงได้คิดลูกเล่นในการซื้อขายขึ้นมา จนเกิดเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า คือการที่พ่อค้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้า เพื่อจัดหาดอกทิวลิปมาจำหน่าย ซึ่งดอกทิวลิปมักมีราคาสูงในช่วงออกดอก เลยไม่มีพ่อค้าคนไหน กล้าจะซื้อในช่วงเวลานั้น จึงมักให้ทำสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มปลูกลงในกระถาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาที่ต่ำที่สุดก่อนจะนำมาขาย

4.ถึงขนาดแลกบ้านพร้อมที่ดินกันเลย

การซื้อขายเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปี การเก็งกำไรซื้อขายกันก็เป็นทอดๆมาเรื่อยๆ เลยทำให้มูลค่าของดอกทิวลิปพุ่งสูงเกินจริงไปมาก บางพันธุ์มีมูลค่าสูงถึง 3,000-4,000 กิลเดอร์ ซึ่งเงินจำนวนนี้มากพอที่จะซื้อของต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้ทั้งหมด

ได้แก่ หมู 8 ตัว, วัว 4 ตัว, แกะ 12 ตัว, ข้าวสาลี 24 ตัน, ข้าวไรย์ 48 ตัน, ไวน์ (ขนาดความจุ 340 ลิตร) 2 ถัง, เรือ 1 ลำ, เบียร์ 4 ถัง, เนย 2 ตัน, เนยแข็ง 500 กิโลกรัม, ถ้วยเงิน 1 ใบ และ เตียง 1 หลัง หรือบางพันธุ์มีมูลค่าสูงมากถึงขนาดมีการนำที่ดินพร้อมบ้านมาแลกกับดอกทิวลิปเพียงแค่หัวเดียวเลยทีเดียว

ดอกทิวลิป

5.เริ่มเข้าสู่วิกฤต

พอในปี ค.ศ. 1636 สภาพภูมิอากาศนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเพาะปลูกดอกทิวลิปเริ่มมีปัญหาตามมา ราคาของมันก็ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว พอมาถึงปี ค.ศ. 1637 ก็เกิด “วิกฤตดอกทิวลิป” (Tulip Mania) ฟองสบู่แตก นักลงทุนจำนวนมากหมดเนื้อหมดตัวกันเป็นแถว ซึ่งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 เพียงแค่ข้ามคืนราคาของดอกทิวลิปก็ลดจาก 3,000 กิลเดอร์ ก็เหลือเพียงแค่ 10 กิลเดอร์เท่านั้น จึงทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐดัตช์ต้องเข้ามาควบคุมการซื้อ-ขายดอกทิวลิป

6.วิกฤตมีผลกระทบเฉพาะคนรวย

ถึงแม้จะเข้าขั้นวิกฤตแต่ยังดีว่าไม่ได้มีผลกระทบแบบวงกว้าง มีผลเฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะ กับกลุ่มชนชั้นสูงกับกลุ่มพวกพ่อค้าที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

แต่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างแรกๆของวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จึงทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้มักถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะในวงการเศรษฐศาสตร์ และนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินต่างๆอยู่เสมอ เพื่อสื่อถึงความโลภในการเก็งกำไรอย่างไม่ระวังจากสภาพจริงของตลาดนั่นเอง