ความเครียด (Stress) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันนี้พบว่า คนส่วนใหญ่มักมีอาการเครียดสะสม อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่ตึงเครียด บางรายมีความกดดันมาก และมีความคาดหวังในชีวิตสูงซึ่งพอไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้มีอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ในบางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือ โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) ได้ในอนาคต
สัญญาณของอาการเครียดสะสม
เมื่อเรามีภาวะเครียดมาก ๆ จะทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงเรื่อย ๆ ผู้ที่เริ่มสงสัยว่าตนเองมีอาการเครียดสะสมหรือไม่ สามารถสังเกตตนเองได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้
– พฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็วเกินไป หรือ ชอบตื่นกลางดึก
– พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่ายชีวิต วิตกกังวล และหน้าตาเศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง
– อาการเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น หายใจถี่ขึ้น หรือ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว บางรายมีอาหารปวดหัวร่วม
– ผู้ที่มีความเครียดสะสมมาก ๆ อาจมีอาการเครียดจนอยากตาย
ความเครียด เป็นภาวะของความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์ที่เกิดจากการบีบคั้นกดดัน เมื่อมีภาวะความเครียดสะสมเป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงแล้ว ภาวะความเครียดอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหรือทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัจจุบัน เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ส่งผลให้มีอาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด และกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก ทุกคนต้องเจอกับภาวะความเครียดอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรับมือและจัดการความเครียดนี้ได้อย่างไร?
โรคความดันโลหิตสูง
คนที่อยู่ในภาวะเครียด มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
โรคหัวใจ
ความเครียดมีผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา รวมถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีโอกาสหัวใจวายได้สูง
โรคเครียดลงกระเพาะ
หากมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการท้องอืด ลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน
โรคนอนไม่หลับ
ความเครียดทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายๆ ชนิด ซึ่งมีผลกระทบต่อการนอนหลับ หรือหากนอนหลับก็หลับไม่สนิท ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดและเจ็บป่วยง่าย
โรคไมเกรน
ความเครียดส่งผลให้สารซีโรโทนินในสมองพร่องไป จะทำให้หลอดเลือดเกิดการพองขยายและหดตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้
โรคออฟฟิศซินโดรม
เกิดจากพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง และกล้ามเนื้ออักเสบได้
โรคอ้วน
นั่งทำงานนาน ๆ ติดต่อกันวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหารได้น้อยลง และอาจทำให้มีโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
โรคกรดไหลย้อน
เนื่องจากทำงานหนัก ทำให้ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอย่างเร่งรีบ รวมไปถึงการชอบทานเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของมัน ของทอด หรือน้ำอัดลม ล้วนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
ความเครียดส่งผลร้ายต่อร่างกาย ควรลองหากิจกรรมที่ช่วยเติมความสุขให้กับตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหาร อร่อยๆ ออกไปเที่ยวบ้าง หรือสังสรรค์กับเพื่อน เพราะร่างกายจะหลั่งสารความสุขออกมาทำให้ความเครียดลดลงได้
การรักษาอาการเครียดสะสม
ความเครียดสะสมเป็นภาวะที่สร้างความกังวลและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายที่มีอาการเครียดสะสมมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้ การไปพบจิตแพทย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่หาทางออกจากภาวะเครียดสะสมไม่ได้ หลายคนมักเข้าใจว่าการไปพบจิตแพทย์ คือ เรามีภาวะจิตไม่ปกติ แต่ในความจริงแล้ว การไปพบจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราบรรเทาอาการเครียดสะสม ซึ่งจิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและบำบัดให้เราอย่างถูกต้อง เพื่อคลายความเครียดอย่างถูกวิธีนั่นเอง