Thursday, 25 April 2024

มะยงชิด-มะยงห่าง-มะปราง-กาวาง ไม้ตระกูลเดียวกัน ผลคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

08 May 2023
263

ปก ไม้ตระกูลเดียวกัน ผลคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

treemusketeers มีเรื่องบอกเล่าไว้ว่า มะปรางมีปลูกคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากไม้ตระกูลนี้อายุยืน ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานกว่า 100 ปี จึงพบแหล่งใหญ่อยู่แถบกำแพงเพชร สุโขทัย พื้นที่เหล่านี้เคยเป็นชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นนานมาแล้ว

ผ่านมาถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการกล่าวถึงมะปราง กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เห่ชมผลไม้ กล่าวถึงมะปรางดังนี้

“หมากปรางนางปอกแล้ว   ใส่โถแก้วแพร้วพรายแสง

ยามชื่นรื่นโรยแรง            ปรางอิ่มอาบซาบนาสา”

เปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่น ที่มาจากต่างถิ่นอย่างมะม่วง มะปรางถูกพัฒนาอย่างช้าๆ ทั้งนี้เป็นเพราะคุณสมบัติของมะปรางเอง มะปรางเป็นไม้ผลที่ทรงต้นค่อนข้างแหลม มีกิ่งก้านสาขาค่อนข้างทึบ สูง 15-30 เมตร รากแก้วแข็งแรง ใบเรียว กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ เกิดบริเวณปลายกิ่งแขนง ช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลือง ผลรูปไข่และกลม ปลายเรียวแหลม มะปรางช่อหนึ่งมี 1-15 ผล ผลดิบมีสีเขียวอ่อน-เขียวเข้มตามอายุของผล ผลมะปรางสุกมีสีเหลืองและเหลืองอมส้ม เปลือกผลนิ่ม เนื้อสีเหลืองแดงส้ม ออกแดง รสชาติมีทั้งเปรี้ยวและหวาน ผลหนึ่งจะมี 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นเส้นใย เนื้อในเมล็ดมีสีขาวและสีม่วง จนนำมาเรียกสีเสื้อผ้าและสิ่งของว่าสีเมล็ดมะปราง เนื้อเมล็ดมีรสขม

มะปรางหวาน

ไม้ตระกูลมะปราง มีหลายลักษณะในสมัยก่อน จึงมีการเรียกไม้ตระกูลนี้หลายชื่อด้วยกัน คือ มะปราง มะยงชิด มะยงห่าง และกาวาง สาเหตุที่พบความแตกต่างในไม้ตระกูลนี้ เป็นเพราะต้นใหม่ที่ได้สมัยก่อน ได้จากการเพาะเมล็ด ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ลุถึงยุคปัจจุบันมีวิธีการขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง ทำให้ได้ต้นที่มีผลตามต้องการ แต่ไม่มีความแปลกใหม่ ส่วนต้นที่มีลักษณะไม่ต้องการ ไม่ได้รับการเหลียวแล สุดท้ายก็ล้มหายตายจากไป

สมัยก่อนมีการขยายพันธุ์มะปรางโดยการเพาะเมล็ด จึงมีรากแก้ว ทรงพุ่มใหญ่ เพราะรากชอนไชหาอาหารได้อย่างอิสระ ต้นมีความแข็งแรง อาจจะออกดอกติดผลช้าหน่อยหลังปลูก หากนำเมล็ดจากต้นแม่ 10 เมล็ดมาเพาะ ต้นที่ได้เมื่อออกผลอาจจะแตกต่างกันใหญ่บ้างเล็กบ้าง หวานน้อยหวานมาก แต่ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดมีความสวยงาม เหมาะที่จะปลูกประดับ เนื่องจากมะปรางเป็นไม้ใบเขียวทั้งปี ไม่ร่วงหล่นทิ้งใบพร้อมกัน พบต้นมะปรางขนาดใหญ่บริเวณวัดแถบจังหวัดนครนายก แถบจังหวัดสมุทรสงครามก็พบขึ้นคู่อยู่กับบ้านทรงไทยโบราณ

ไม้ตระกูลมะปราง แต่ละลักษณะมีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สามารถดูได้ที่ผลและรสชาติ มะปราง…จะดูที่ต้นและใบแล้วบอกว่าเป็นมะปรางยาก แต่ดูได้ที่ผล ส่วนใหญ่แล้วมะปราง ผลมีขนาดไม่ใหญ่ มะปรางบางต้นเมื่อผลเขียวอยู่ รสไม่เปรี้ยว เมื่อสุกรสหวาน เนื้อไม่กรอบ มะปรางบางต้นรสเปรี้ยวจัด มีเกษตรกรพยายามคัดเลือกพันธุ์มะปรางผลใหญ่ เพื่อตอบสนองผู้บริโภค ซึ่งก็พบบ้าง แต่ขนาดยังสู้มะยงชิดไม่ได้ พันธุ์มะปรางที่รู้จักกันดีก็เช่นพันธุ์แม่ระมาด สุวรรณบาตร พันธุ์มะปรางหวานแหล่งดั้งเดิมและรู้จักกันดี อยู่ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองนนทบุรี จนมีคำพูดว่า “กระท้อนจากบางกร่าง มะปรางท่าอิฐ”

มะยงชิด…เป็นไม้ผลตระกูลมะปรางที่มาแรง และได้รับความสนใจจากผู้ปลูกและผู้บริโภคอย่างมาก เพราะผลมีขนาดใหญ่ มักจะเห็นเจ้าของสวนนำเสนอว่า มะยงชิดของตัวเองขนาดใหญ่ โดยถ่ายรูปคู่กับไข่ไก่ อาจจะมีเทคนิคซื้อไข่ไก่เบอร์เล็กมาถ่าย เคยมีผู้ทำสถิติไว้โดยนำผลผลิตมะยงชิดมาชั่งได้ 12 ผล หนัก 1 กิโลกรัม ขนาดเล็กใหญ่ นอกจากพันธุกรรมแล้ว หากปริมาณติดผลน้อยหรือบำรุงปุ๋ย ผลก็จะใหญ่ได้

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของมะยงชิดนั้น เนื้อกรอบกว่ามะปราง รสชาติหวานอมเปรี้ยว ความเปรี้ยวพบมากที่เปลือก ดังนั้นเวลารับประทาน จึงนิยมปอกเปลือก พันธุ์มะยงชิดที่รู้จักกันดีก็เช่นทูลเกล้า เพชรนวลทอง

มะยงชิด

เรื่องชื่อพันธุ์ยังไม่มีการแยกแยะหรือดูแลชัดเจน เดิมทีเกษตรกรนำมะปรางมาปลูกได้ผลขนาดใหญ่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว เกษตรกรรายแรกมาทาบกิ่งไปปลูกที่อุตรดิตถ์อาจตั้งชื่อว่า “ทองอุตรดิตถ์” รายที่ 2 นำไปปลูกที่กำแพงเพชร อาจจะชื่อว่า “ทองกำแพงเพชร” ทั้งๆ ที่ไปจากต้นเดียวกัน ในวงการมะยงชิดพบเรื่องราวอย่างนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นทุกสวน สาเหตุที่เกษตรกรอยากได้ชื่อเป็นของตนเองเพราะอยากสร้างจุดขาย เพราะสุดท้ายแล้วจะส่งผลถึงเรื่องการค้า

มะยงห่าง…ผลมีขนาดใกล้เคียงกับมะยงชิด แต่รสชาติห่างไกลกัน คือรสชาติเปรี้ยวอมหวาน 100 มะยงชิดมีความหวานอยู่ 90 ความเปรี้ยวอยู่ที่ 10 ขณะที่มะยงห่างใน 100 เปรี้ยว 90-95 หวานมีอยู่เพียง 5 การแยกตัวไหนชิดตัวไหนห่าง คนรุ่นก่อนๆ เขาอาศัยการชิม ไม่ได้ใช้เครื่องมือรีแฟรกโตมิเตอร์วัด ซึ่งมีค่าออกมาเป็นบริกซ์ที่นิยมใช้ในการประกวดผลไม้

กาวาง…ส่วนใหญ่แล้วผลขนาดใหญ่เท่าๆ กับมะยงชิด แต่รสชาติเปรี้ยวจี๊ดน้องๆ มะดัน เมื่อต้นที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติออกดอกติดผลสีสวย ต่างก็เป็นที่หมายปองของนกกา เมื่อนกและกาที่หิวโหยลองจิกชิมลิ้มรสผลสุก ต้องรีบวาง เพราะเปรี้ยวมาก ด้วยเหตุนี้ไม้ผลตระกูลมะปรางที่มีรสเปรี้ยวจัดจึงได้ชื่อว่ากาวาง

ทุกวันนี้ แทบไม่เห็นกาวาง แม้แต่ชื่อก็ค่อยๆ เลือนหายไป ก็อย่างที่รู้กันว่ารสชาติไม่หวาน จึงไม่ถูกนำมาทำพันธุ์ ต้นเก่าที่มีอยู่ก็อาจจะถูกนำไปเผาถ่านมะปรางเปรี้ยว มะปรางหวานผลเล็ก ก็ถูกคัดออกจากสารบบ ที่โดดเด่นอยู่ในวงการจริงๆ คือมะยงชิด มะปรางหวานผลใหญ่

สนับสนุนโดย ufa352.vip